วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

นักวิชาการ จี้ ร้านขายยาเร่งปรับตัวรับ AEC ก่อนเจ๊ง

นักวิชาการ จี้ ร้านขายยาเร่งปรับตัวรับ เออีซี มิเช่นนั้นจะถูกร้านยาต่างชาติกลืน ซ้ำรอยกิจการโชห่วยที่ถูกร้านสะดวกซื้อดูดลูกค้าไปหมด

          เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการจัดอภิปรายในประเด็น "ผลกระทบเออีซีต่อผู้ประกอบการร้านขายยา" ภายใต้โครงการ "พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านขายยาแห่งประเทศไทย"

          โดย ภก.ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี กรรมการอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) กำลังจะเปิดใน พ.ศ. 2558 แต่ธุรกิจร้านขายยาเป็นธุรกิจที่ยังไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐทุกกรณี จึงทำให้ทางรัฐมีข้อมูลเกี่ยวกับร้านยาที่ไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การเปิดเออีซี จะส่งผลกระทบต่อร้านขายยาในประเทศไทย 2 ส่วนด้วยกัน ดังนี้

           1. ยาจากต่างประเทศจะถูกนำมาขายในไทยมากขึ้น ในราคาที่อาจจะเทียบเท่าหรือถูกกว่า เนื่องจากได้รับการละเว้นภาษีนำเข้า มีเพียงต้นทุนค่าขนส่งเท่านั้น ขณะที่ยาในประเทศต้องเสียภาษีนำเข้าวัตถุดิบและสารสำคัญของยาร้อยละ 2-5 อีกด้วย ทั้งนี้ การที่มียาไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น ทางร้านขายยาต้องมีหน้าที่คัดกรองยาที่จะนำมาขายเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องคุณภาพ ราคา ความปลอดภัย เป็นต้น

          2. ร้านยาจากประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนจะมาเปิดแข่งกับร้านยาไทยมากขึ้นแม้ว่าตามกฎหมายไทยจะให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในกิจการได้ร้อยละ 49 ก็ตามที แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีคนไทยถือหุ้นแทนกันได้ นอกจากนี้ยังมีร้านขายยาแบบแฟรนไชส์ ที่เป็นคู่แข่งขันร้านขายยาไทยอีก 1 รายด้วย ส่วนสาเหตุที่ต่างชาติเจาะตลาดร้านขายยาไทย เป็นเพราะคุ้มค้าและได้กำไรมากกว่าการส่งออกเพียงอย่างเดียว

          ขณะที่ นายวิชัย อรุณรักษ์รัตนะ ประธานชมรมร้านยาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเปิดเออีซีแล้ว แต่ร้านขายยาในไทยยังไม่มีการตื่นตัวในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างเร่งด่วนด้วย มิเช่นนั้น ก็จะเกิดภาวะคล้ายคลึงกับร้านขายของชำ ร้านค้าปลีก ค่อย ๆ ปิดกิจการ เนื่องจากสู้ทุนจากต่างชาติไม่ไหว

          นอกจากนี้ นายวิชัย ยังเสนอวิธีการรับมือของร้านขายยาไทยด้วยว่า ต้องรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อเพิ่มอำนาจในการแข่งขัน เช่น เรื่องการพัฒนาร้านขายยาให้ได้มาตรฐาน รวมถึงการร่วมมือกันจัดซื้อยาให้ได้ราคาถูก เพื่อลดต้นทุน เนื่องจากปัจจุบันเป็นร้านยาเดี่ยว ต่างคนต่างซื้อ ไม่สามารถต่อรองราคาให้ถูกลงได้มากเท่าที่ควร ส่วนเรื่องร้านขายยาในไทย จะไปบุกตลาดต่างประเทศหรือไม่ คงยังไม่มีช่องทาง เพราะศักยภาพยังไม่เพียงพอ

TELEVISHOWS - เพลง -อาเซียนร่วมใจ-.flv

วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

ต่างชาติมองไทยน่าลงทุนที่สุดในอาเซียน - ข้อเสียคือการเมือง


        
      โพล ชี้ ต่างชาติมองไทยน่าลงทุนที่สุดในอาเซียน ในปี 2556 นี้ เพราะมีทรัพยากรและนโยบายที่พร้อม แต่มีข้อเสีย คือ เสถียรภาพทางการเมืองและการทุจริตฉุดรั้งประเทศเอาไว้
 
          วันนี้ (9 มกราคม) นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง โอกาสและจุดแข็งของประเทศไทยต่อบรรยากาศการลงทุนในอาเซียน ปี 2556 ตามสายตาของชาวต่างชาติ โดยกลุ่มตัวอย่าง เป็นชาวต่างชาติที่มีความเข้าใจในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอย่างน้อย 5 ประเทศ โดยผลการสำรวจกล่าวโดยสรุปเป็นดังนี้
 
          จากคำตอบของแบบสอบถาม นับ ได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของอาเซียนที่ชาวต่างชาติมองเห็นโอกาสในการลงทุนปี 2556 เนื่องจากมีทรัพยากรที่พร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบและกำลังคน มีนโยบายที่ดี เอื้อต่อการลงทุน แต่ข้อเสียของประเทศไทยที่สู้ประเทศอื่นในอาเซียนไม่ได้ คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาการทุจริต
 
          เมื่อประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ๆ ทำให้นโยบายต่าง ๆ ที่วางไว้ไม่นิ่ง เป็นความเสี่ยงอย่างสูงตามสายตาของนักลงทุน ขณะที่ปัญหาการทุจริต หากประชาชนคนไทยไม่มีกำลังต้านมากพอ และปล่อยให้มีการทุจริตอย่างกว้างขวาง โอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ก็คงเป็นไปได้ยาก

นายกฯ ถกสุดยอดอาเซียน คุยเศรษฐกิจ เตรียมเข้า AEC

   
 ยิ่งลักษณ์ พอใจผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 ที่กัมพูชา แนะแต่ละประเทศควรเร่งผลักดันการค้าเสรี เพื่อทำให้อาเซียนเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน
 
          วันนี้ (20 พฤศจิกายน) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนไทย ถึงผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 และการประชุมอื่น ๆ ที่ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 18-21 พฤศจิกายน มีใจความสำคัญดังนี้
 
          ในประเด็นด้านเศรษฐกิจทุกประเทศเห็นว่า ควรร่วมกันผลักดันการค้าเสรีที่เป็นธรรมแก่ทุกประเทศ แม้ว่าแต่ละประเทศอยากจะให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโต ก็ต้องให้ความสำคัญแก่โครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ของการค้าตามแนวชายแดน เพื่อทำให้ประเทศเราและเพื่อนบ้านสามารถเติบโตควบคู่กันได้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการตรวจความพร้อมของทุกฝ่ายว่า มีสิ่งใดที่แต่ละประเทศยังขาด ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2558



 
          นอกจากนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังได้ประชุมตรวจความพร้อมในการรองรับภัยพิบัติของอาเซียนด้วย โดยจะเน้นถึงวิธีการรับมือและการสำรองอาหาร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการพูดคุยถึงการแก้ปัญหาความสงบในแต่ละภูมิภาค ที่จะต้องตั้งกฎต่าง ๆ เป็นกติกาในการทำงานร่วมกันภายหลัง แต่ถึงอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนพอใจในภาพรวมของการประชุม เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นการเติบโตเศรษฐกิจของไทยแบบยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเร่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการค้า การลงทุนระหว่างอาเซียนด้วยกันเองด้วย เพื่อทำให้ภูมิภาคเกิดความแข็งแรงและยั่งยืนต่อไป ควบคู่ไปกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน อินเดีย ไปด้วย

          นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อาเซียนกับจีน มีความเห็นตรงกันที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือทางทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเรื่องของกรอบความร่วมมือการเดินเรือ เพื่อทำให้เกิดการค้าการลงทุนแบบยั่งยืน

วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

อาเซียน




ยินดีต้อนรับสู่อาเซียน


"One  Vision, One Identity, One Community"
หนึ่งวิสัยทัศน์  หนึ่งอัตลักษณ์  หนึ่งประชาคม