วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

นึกคิดชวนนับเลข


นึกคิดชวนนับเลข 
 
วัน หนึ่ง วาฮีด ซาตู     อิสนัย ทู ดูวอ สอง
ตีกอ ซาลาซา สาม ทรี     สี่ โฟ อัมปัต อัรบาอา
คอมซา ลีมอ ไฟว์ฟ ห้า   ซิตตา อันนัม ซิก หก
เซเว่น เจ็ด ซับอา ตูโญห      แปด เอท ซามาเนีย ลาปัน
ซัมบีลัน เก้า ไนน์ ติสอา       ซาปูโลห อาชารอ สิบ เท็น

คุณคิดว่าบทความนี้มีกี่ภาษา  ? 
ลองทายกันดูสิค่ะ ^^



 

 

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สัญลักษณ์ของอาเซียน




สัญลักษณ์ของอาเซียน คือ รูปรวงข้าว สีเหลืองบนพื้นสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลม

 - สีขาวและสีน้ำเงินรวงข้าว 10 ต้น หมายถึง ประเทศสมาชิก 10 ประเทศ
 -สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
 -สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและการมีพลวัติ
 -สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
 -สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง

สมาชิกอาเซียน




1.บรูไนดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)
          ประเทศบรูไน มีชื่อเป็นทางการว่า "เนการาบรูไนดารุสซาลาม" มีเมือง "บันดาร์เสรีเบกาวัน" เป็น เมืองหลวง ถือเป็นประเทศที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เพราะมีพื้นที่ประมาณ 5,765 ตารางกิโลเมตร ปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีประชากร 381,371 คน (ข้อมูลปี พ.ศ.2550) โดยประชากรเกือบ 70% นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการ


2.ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)
          เมืองหลวงคือ กรุงพนมเปญ เป็นประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก มีพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร หรือขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย มีประชากร 14 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2550) โดยประชากรกว่า 80% อาศัยอยู่ในชนบท 95% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ แต่ก็มีหลายคนที่พูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเวียดนามได้


3.สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)

          เมืองหลวงคือ จาการ์ตา ถือเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่ 1,919,440 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากถึง 240 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2553) โดย 61% อาศัยอยู่บนเกาะชวา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษา Bahasa Indonesia เป็นภาษาราชการ

4.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) (The Lao People's Democratic Republic of Lao PDR)

          เมืองหลวงคือ เวียงจันทน์ ติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก โดยประเทศลาวมีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย คือ 236,800 ตารางกิโลเมตร พื้นที่กว่า 90% เป็นภูเขาและที่ราบสูง และไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดทะเล ปัจจุบัน ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม โดยมีประชากร 6.4 ล้านคน ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาหลัก แต่ก็มีคนที่พูดภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสได้ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

5.ประเทศมาเลเซีย (Malaysia)

          เมืองหลวงคือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร แบ่งเป็นมาเลเซียตะวันตกบคาบสมุทรมลายู และมาเลเซียตะวันออก ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว ทั้งประเทศมีพื้นที่ 329,758 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร 26.24 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ใช้ภาษา Bahasa Melayu เป็นภาษาราชการ

6.สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)
          เมืองหลวงคือ กรุงมะนิลา ประกอบด้วยเกาะขนาดต่าง ๆ รวม 7,107 เกาะ โดยมีพื้นที่ดิน 298.170 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 92 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2553) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ และเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นอันดับ 4 ของโลก มีการใช้ภาษาในประเทศมากถึง 170 ภาษา แต่ใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาตากาลอก เป็นภาษาราชการ

7.สาธารณรัฐสิงคโปร์ (The Republic of Singapore)

          เมืองหลวงคือ กรุงสิงคโปร์ ตั้งอยู่บนตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางคมนาคมทางเรือของอาเซียน จึงเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในย่านนี้ แม้จะมีพื้นที่ราว 699 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น มีประชากร 4.48 ล้านคน ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ แต่มีภาษามาเลย์เป็นภาษาประจำชาติ ปัจจุบันใช้การปกครองแบบสาธารณรัฐ (ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาเดียว)

8.ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)

          เมืองหลวงคือกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 513,115.02 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 77 จังหวัด มีประชากร 65.4 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2553) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุขของประเทศ

9.สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The Socialist Republic of Vietnam)

          เมืองหลวงคือ กรุงฮานอย มีพื้นที่ 331,689 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจถึงเมื่อปี พ.ศ.2553 มีประชากรประมาณ 88 ล้านคน ประมาณ 25% อาศัยอยู่ในเขตเมือง ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ ปัจจุบัน ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

10.สหภาพพม่า (Union of Myanmar)

          มีเมืองหลวงคือ เนปิดอว ติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันออก โดยทั้งประเทศมีพื้นที่ประมาณ 678,500 ตารางกิโลเมตร ประชากร 48 ล้านคน กว่า 90% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท หรือหินยาน และใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ

กำเนิดอาเซียน

กำเนิดอาเซียน  

         
         อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East AsianNations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งได้มีการลงนามที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งผู้แทนทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วยนายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย) ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย) นายนาซิโซ รามอส (รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์) นายเอส ราชารัตนัม (รัฐมนตรีต่างประเทศสิงค์โปร์) และพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ (รัฐมนตรีต่างประเทศไทย) 
         ในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (เป็นสมาชิกเมื่อ 8 ม.ค.2527) เวียดนาม (วันที่ 28 ก.ค. 2538) สปป.ลาว พม่า (วันที่ 23 ก.ค. 2540) และ กัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกล่าสุด (วันที่ 30 เม.ย. 2542) ให้ปัจจุบันมีสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ 
         วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งอาเซียน คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพเสถียรภาพ และความมั่นคงทางการเมือง สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมการกินดีอยู่ดีของประชาชนบนพื้นฐานของความเสมอ ภาคและผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

นักวิชาการ จี้ ร้านขายยาเร่งปรับตัวรับ AEC ก่อนเจ๊ง

นักวิชาการ จี้ ร้านขายยาเร่งปรับตัวรับ เออีซี มิเช่นนั้นจะถูกร้านยาต่างชาติกลืน ซ้ำรอยกิจการโชห่วยที่ถูกร้านสะดวกซื้อดูดลูกค้าไปหมด

          เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการจัดอภิปรายในประเด็น "ผลกระทบเออีซีต่อผู้ประกอบการร้านขายยา" ภายใต้โครงการ "พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านขายยาแห่งประเทศไทย"

          โดย ภก.ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี กรรมการอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) กำลังจะเปิดใน พ.ศ. 2558 แต่ธุรกิจร้านขายยาเป็นธุรกิจที่ยังไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐทุกกรณี จึงทำให้ทางรัฐมีข้อมูลเกี่ยวกับร้านยาที่ไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การเปิดเออีซี จะส่งผลกระทบต่อร้านขายยาในประเทศไทย 2 ส่วนด้วยกัน ดังนี้

           1. ยาจากต่างประเทศจะถูกนำมาขายในไทยมากขึ้น ในราคาที่อาจจะเทียบเท่าหรือถูกกว่า เนื่องจากได้รับการละเว้นภาษีนำเข้า มีเพียงต้นทุนค่าขนส่งเท่านั้น ขณะที่ยาในประเทศต้องเสียภาษีนำเข้าวัตถุดิบและสารสำคัญของยาร้อยละ 2-5 อีกด้วย ทั้งนี้ การที่มียาไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น ทางร้านขายยาต้องมีหน้าที่คัดกรองยาที่จะนำมาขายเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องคุณภาพ ราคา ความปลอดภัย เป็นต้น

          2. ร้านยาจากประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนจะมาเปิดแข่งกับร้านยาไทยมากขึ้นแม้ว่าตามกฎหมายไทยจะให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในกิจการได้ร้อยละ 49 ก็ตามที แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีคนไทยถือหุ้นแทนกันได้ นอกจากนี้ยังมีร้านขายยาแบบแฟรนไชส์ ที่เป็นคู่แข่งขันร้านขายยาไทยอีก 1 รายด้วย ส่วนสาเหตุที่ต่างชาติเจาะตลาดร้านขายยาไทย เป็นเพราะคุ้มค้าและได้กำไรมากกว่าการส่งออกเพียงอย่างเดียว

          ขณะที่ นายวิชัย อรุณรักษ์รัตนะ ประธานชมรมร้านยาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเปิดเออีซีแล้ว แต่ร้านขายยาในไทยยังไม่มีการตื่นตัวในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างเร่งด่วนด้วย มิเช่นนั้น ก็จะเกิดภาวะคล้ายคลึงกับร้านขายของชำ ร้านค้าปลีก ค่อย ๆ ปิดกิจการ เนื่องจากสู้ทุนจากต่างชาติไม่ไหว

          นอกจากนี้ นายวิชัย ยังเสนอวิธีการรับมือของร้านขายยาไทยด้วยว่า ต้องรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อเพิ่มอำนาจในการแข่งขัน เช่น เรื่องการพัฒนาร้านขายยาให้ได้มาตรฐาน รวมถึงการร่วมมือกันจัดซื้อยาให้ได้ราคาถูก เพื่อลดต้นทุน เนื่องจากปัจจุบันเป็นร้านยาเดี่ยว ต่างคนต่างซื้อ ไม่สามารถต่อรองราคาให้ถูกลงได้มากเท่าที่ควร ส่วนเรื่องร้านขายยาในไทย จะไปบุกตลาดต่างประเทศหรือไม่ คงยังไม่มีช่องทาง เพราะศักยภาพยังไม่เพียงพอ

TELEVISHOWS - เพลง -อาเซียนร่วมใจ-.flv

วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

ต่างชาติมองไทยน่าลงทุนที่สุดในอาเซียน - ข้อเสียคือการเมือง


        
      โพล ชี้ ต่างชาติมองไทยน่าลงทุนที่สุดในอาเซียน ในปี 2556 นี้ เพราะมีทรัพยากรและนโยบายที่พร้อม แต่มีข้อเสีย คือ เสถียรภาพทางการเมืองและการทุจริตฉุดรั้งประเทศเอาไว้
 
          วันนี้ (9 มกราคม) นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง โอกาสและจุดแข็งของประเทศไทยต่อบรรยากาศการลงทุนในอาเซียน ปี 2556 ตามสายตาของชาวต่างชาติ โดยกลุ่มตัวอย่าง เป็นชาวต่างชาติที่มีความเข้าใจในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอย่างน้อย 5 ประเทศ โดยผลการสำรวจกล่าวโดยสรุปเป็นดังนี้
 
          จากคำตอบของแบบสอบถาม นับ ได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของอาเซียนที่ชาวต่างชาติมองเห็นโอกาสในการลงทุนปี 2556 เนื่องจากมีทรัพยากรที่พร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบและกำลังคน มีนโยบายที่ดี เอื้อต่อการลงทุน แต่ข้อเสียของประเทศไทยที่สู้ประเทศอื่นในอาเซียนไม่ได้ คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาการทุจริต
 
          เมื่อประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ๆ ทำให้นโยบายต่าง ๆ ที่วางไว้ไม่นิ่ง เป็นความเสี่ยงอย่างสูงตามสายตาของนักลงทุน ขณะที่ปัญหาการทุจริต หากประชาชนคนไทยไม่มีกำลังต้านมากพอ และปล่อยให้มีการทุจริตอย่างกว้างขวาง โอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ก็คงเป็นไปได้ยาก

นายกฯ ถกสุดยอดอาเซียน คุยเศรษฐกิจ เตรียมเข้า AEC

   
 ยิ่งลักษณ์ พอใจผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 ที่กัมพูชา แนะแต่ละประเทศควรเร่งผลักดันการค้าเสรี เพื่อทำให้อาเซียนเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน
 
          วันนี้ (20 พฤศจิกายน) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนไทย ถึงผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 และการประชุมอื่น ๆ ที่ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 18-21 พฤศจิกายน มีใจความสำคัญดังนี้
 
          ในประเด็นด้านเศรษฐกิจทุกประเทศเห็นว่า ควรร่วมกันผลักดันการค้าเสรีที่เป็นธรรมแก่ทุกประเทศ แม้ว่าแต่ละประเทศอยากจะให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโต ก็ต้องให้ความสำคัญแก่โครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ของการค้าตามแนวชายแดน เพื่อทำให้ประเทศเราและเพื่อนบ้านสามารถเติบโตควบคู่กันได้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการตรวจความพร้อมของทุกฝ่ายว่า มีสิ่งใดที่แต่ละประเทศยังขาด ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2558



 
          นอกจากนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังได้ประชุมตรวจความพร้อมในการรองรับภัยพิบัติของอาเซียนด้วย โดยจะเน้นถึงวิธีการรับมือและการสำรองอาหาร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการพูดคุยถึงการแก้ปัญหาความสงบในแต่ละภูมิภาค ที่จะต้องตั้งกฎต่าง ๆ เป็นกติกาในการทำงานร่วมกันภายหลัง แต่ถึงอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนพอใจในภาพรวมของการประชุม เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นการเติบโตเศรษฐกิจของไทยแบบยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเร่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการค้า การลงทุนระหว่างอาเซียนด้วยกันเองด้วย เพื่อทำให้ภูมิภาคเกิดความแข็งแรงและยั่งยืนต่อไป ควบคู่ไปกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน อินเดีย ไปด้วย

          นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อาเซียนกับจีน มีความเห็นตรงกันที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือทางทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเรื่องของกรอบความร่วมมือการเดินเรือ เพื่อทำให้เกิดการค้าการลงทุนแบบยั่งยืน

วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

อาเซียน




ยินดีต้อนรับสู่อาเซียน


"One  Vision, One Identity, One Community"
หนึ่งวิสัยทัศน์  หนึ่งอัตลักษณ์  หนึ่งประชาคม